รู้จักเรา
แนวคิด
สร้างมิตรภาพผ่านการแบ่งปันด้วยดนตรีและศิลปะท่ามกลางธรรมชาติ
เทศกาลชัมบาลาจัดขึ้นทุกปีโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดๆ มีเพียงกลุ่มศิลปินและอาสาสมัครร่วมกันจัดและดำเนินเทศกาลนี้ เรามุ่งมั่นที่จะรักษามันให้บริสุทธิ์ จริงใจ และเป็นธรรมชาติ เป็นเวลาสิบวันที่พวกเราทุกคนจะใช้ชีวิตร่วมกันโดยให้เกียรติธรรมชาติ เราเล่นดนตรี สร้างสรรค์งานศิลปะ แบ่งปันความคิด ส่งมอบความรัก จนเราได้กลายมาเป็นเพื่อนกันในที่สุด
เรามีระบบแสง สี เสียง ที่คุณสามารถเพลิดเพลินกับดนตรีหลากหลายทั้งวงดนตรีท้องถิ่นและนานาชาติ แต่ความตั้งใจของเทศกาลนี้ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นรอบๆกองไฟและในบริเวณที่ตั้งแคมป์
นั่นคือ การที่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อเล่นดนตรีด้วยกันได้อย่างอิสระ
สร้างมิตรภาพผ่านการแบ่งปันด้วยดนตรีและศิลปะท่ามกลางธรรมชาติ นั่นคือแนวคิดของเรา
ครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 14 แล้ว ยินดีต้อนรับทุกคน
ผู้ก่อตั้งและจัดงานชัมบาลา
เป็นกลุ่มฮิปปี้ชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากเพื่อนๆชาวไทย เราอยากจะรักษาไว้ซึ่งความเรียบง่าย สร้างจากน้ำพักน้ำแรงของเราเอง เป็นธรรมชาติไม่เร่งรีบ มาร่วมกันแบ่งปันความรัก ความสงบสุข และความสวยงามกัน
พวกเรารักธรรมชาติ
เราคือธรรมชาติ
เรารวมเป็นหนึ่งเดียวกับความงามของภูเขา แม่น้ำ และป่าไม้ที่ล้อมรอบเรา
เรียน ผู้เข้าร่วมงานและร้านค้าทุกท่าน
เทศกาลชัมบาลาจัดขึ้นท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ใกล้ดอยหลวงเชียงดาว
ปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมเทศกาลของเรามากเป็นประวัติการณ์ เรามีปัญหาเรื่องขยะล้นทุกๆวัน
ในปีนี้เราขอเชิญชวนให้ทุกคน "ยกระดับ" และเพิ่มความรักในความตระหนักรู้ต่อธรรมชาติ
พวกเราจึงตัดสินใจเลือกและดำเนินการในสิ่งที่สะท้อนถึงความรักที่เรามีต่อธรรมชาติด้วยกัน
ดังนั้น โปรดพิจารณาและร่วมกันลดปริมาณขยะตามแนวทางดังต่อไปนี้
นำภาชนะใส่อาหาร เช่น ถ้วย จาน และ ช้อน ส้อม ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ของตัวเองมาด้วย
นำภาชนะของตัวเองไปใช้ซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากผู้ขายภายในงาน
นำขวดน้ำแบบเติมมาใช้ เรามีน้ำดื่มให้เติมฟรี
เก็บขยะไว้ใกล้เต็นท์ของตัวเองให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย
ลดขยะให้เหลือน้อยที่สุดและนำติดตัวไปทิ้งด้วยเมื่อคุณออกจากงาน
โปรดใช้สบู่ แชมพู และผงซักฟอกออร์แกนิกเพื่อชำระล้างร่างกายและเสื้อผ้าของคุณ เพราะทุกสิ่งที่คุณใช้ในห้องอาบน้ำ พื้นที่ซักล้าง และบ่อน้ำพุร้อนในบริเวณใกล้เคียงจะไหลลงสู่แม่น้ำโดยตรง
ขอขอบคุณ ❤️
"สิ่งที่คุณทำ สร้างความแตกต่างได้ และคุณต้องตัดสินใจว่าคุณอยากจะสร้างความแตกต่างแบบใด" เจน กูดดอลล์
จุดเริ่มต้นของเทศกาล
มินามิ มาซาโตะ (นามิซัง) เกิดวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2487 - 7 มกราคม พ.ศ. 2564 อายุ 76 ปี เป็นนักร้องเพลงร็อค เป็นนักแต่งเพลง และเป็นมือกีตาร์ เป็นหนึ่งในสมาชิกหลักของ "Inochi-no-Matsuri (เทศกาลแห่งชีวิต) ซึ่งเป็นงานเทศกาล 8 วันที่จัดขึ้นในปี 1988 สองปีหลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล
นามิซังเป็นผู้จัดเทศกาลคนรากหญ้าญี่ปุ่น-ไทย(Japan-Thai grassroots festival)ครั้งแรกใช้ชื่อว่า "Jubilee Jam" ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 1998 และ 2003 หลังจากนั้นหลายปี เขาและกลุ่มของเขาตัดสินใจที่จะจัดงานอีกครั้ง แต่คราวนี้จัดในพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติอันสมบูรณ์ของเชียงดาวและเริ่มเทศกาล "Shambhala In Your Heart" ในปี 2010
นามิซังเล่นดนตรีจนวันสุดท้าย ระหว่างแสดงสดได้ล้มลงกลางเวทีและถึงแก่กรรม
นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับ Festival For Life ในปี 1988, Jubilee Jam ปี 1998 และเทศกาล Shambhala Festival ปี 2010 เขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย Nami-san
...............................................................................
ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับผมมากมายเกี่ยวกับเทศกาลชัมบาลาว่าเริ่มต้นขึ้นอย่างไร วันนี้ผมจึงเขียนเกี่ยวกับเทศกาลนี้เป็นครั้งแรก
เมื่อปี 1988 ที่ญี่ปุ่น ประมาณ 2 ปีหลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล เราจัดแคมป์เทศกาลกลางแจ้งเป็นเวลา 8 วัน เราตั้งชื่อเทศกาลนี้ว่า "INOCHINO-MATSURI" (เทศกาลแห่งชีวิต) โดยมีแนวคิดหลักคือ No Nukes One Love นับเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ครั้งแรกที่ประท้วงและต่อสู้เพื่อโลกที่ปราศจากนิวเคลียร์ ผู้คนมากกว่า 10,000 คน (ในจำนวนนี้มีวัยรุ่นฮิปปี้ชาวญี่ปุ่นถึง 6,000 คน) มารวมตัวกันในเทศกาลนี้ การที่ผู้คนจำนวนมากมาตั้งแคมป์ในที่เดียวกันนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักดนตรีหลายคนเล่นดนตรีและประกาศเจตจำนงอันแรงกล้าที่จะสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม
วงดนตรีไทยชื่อดัง "คาราวาน" ได้รับเชิญให้แสดงในเทศกาลนี้ คุณสุรชัย หัวหน้าวงบอกกับผมว่า "นามิซัง ช่างเป็นเทศกาลที่สวยงามมาก! ผมหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้จัดเทศกาลสันติภาพแบบนี้ในประเทศของผมบ้าง ที่ประเทศไทยเมื่อผมวางแผนจัดเทศกาลแบบนี้ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาและไม่เคยสงบสุขแบบนี้เลย"
คำพูดของเขายังคงติดอยู่ในใจผมเป็นเวลานาน เมื่อผมมีโอกาสมาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2535 ผมจึงพยายามตามหาเขา และคุณปิ๊กก็พาผมไปพบเขา
“สวัสดี! คุณสุรชัย ในที่สุดผมก็มาพบคุณแล้ว! ผมจะช่วยคุณหากคุณวางแผนจัดงานเทศกาล” ผมคาดหวังคำตอบที่ดีจากเขา แต่เขากลับตอบว่า "ขอโทษนะนามิซัง ตอนนี้ผมไม่ค่อยสบายและไม่มีพละกำลังเพียงพอ ลองหาคนอื่นมาช่วยคุณเถอะ"
ผมผิดหวังนิดหน่อยแต่ก็ไม่ยอมแพ้ ตกลง ผมจะหาใครสักคน จะต้องมีใครสักคน หลังจากนั้นอีก 6 ปี ผมกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง แต่ก็ไม่พบคนที่เหมาะสม ผมเกือบจะล้มเลิกแผนแล้ว จนในที่สุดมีผู้ชายคนหนึ่ง "คุณตุ๊ก" นักกีตาร์ร็อคชื่อดังก็พูดกับผมว่า "พี่!! ผมจะทำ! ให้ผมทำ!"
เราจัดเทศกาลคนรากหญ้าระหว่างญี่ปุ่นและไทยครั้งแรกในชื่อ (Jubilee Jam) เมื่อปี พ.ศ. 2541 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายได้ส่วนหนึ่งบริจาคให้กับโรงพยาบาลช้าง และในปี พ.ศ. 2546 เราก็จัดเทศกาลครั้งที่สองขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง โดยมีศาตราจารย์ ศุภชัยเป็นตัวแทน แม้ว่าจะไม่ตรงตามที่ผมคาดหวังไว้ทั้งหมด แต่เราก็สามารถจัดงานขึ้นได้ในต่างประเทศ กำไรส่วนหนึ่งเราบริจาคให้กับโครงการการศึกษาสำหรับเด็กหญิงชาวอาข่า (A.D.E.P-Aka) แต่จริงๆแล้ว ผมต้องใช้เงินค่อนข้างมากกับเทศกาลทั้ง 2 งาน ผมเบื่อกับปัญหาเรื่องเงินและไม่คิดว่าจะจัดเทศกาลในเมืองไทยอีกต่อไป
หลายปีผ่านไป เพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมหลายคนขอให้ผมจัดเทศกาลอีกครั้ง คราวนี้เราอยากจัดนอกเมืองท่ามกลางธรรมชาติ โดยไม่มีสปอนเซอร์
ตอนแรกเรามองหาสถานที่ในปาย เรา (สเตฟาน ปิ๊ก และผม) ขับรถไปรอบๆ ปายทุกวัน แต่ก็ไม่พบที่ที่เหมาะสม ผมกลับไปเชียงใหม่เพื่อเล่าเรื่องนี้ให้กับ Urano (เพื่อนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่เชียงใหม่) ฟัง แล้วเขาก็พูดว่า "นามิซัง มีสถานที่ดีๆ มากมายในเชียงดาว คุณน่าจะชอบนะ"
วันรุ่งขึ้นเรามุ่งหน้าสู่เชียงดาว ถึงสี่แยกใหญ่ที่เชียงดาวเราเลี้ยวซ้าย ราวกับว่ามีพลังงานที่มองไม่เห็นนำรถของเราไป หลังจากนั้นเราก็ยืนอยู่บนผืนดินที่ตั้งแคมป์ใกล้ดอยหลวง เมื่อมองขึ้นไปบนดอยหลวงที่อยู่เบื้องหน้า ผมก็สัมผัสได้ว่าที่นี่แหละคือสถานที่ที่เราจะจัดงาน
ปีนั้นตอนที่ผมมาเมืองไทย ผมเห็นภูเขาลูกหนึ่งที่แปลกมากจากหน้าต่างเครื่องบิน และภูเขาที่อยู่ตรงหน้าผมคือภูเขาลูกนั้น นี่คงจะเป็นคำแนะนำจากสวรรค์ ชาวบ้านสี่หรือห้าคนรวมตัวกัน ณ ที่หนึ่ง ชี้นิ้วไปที่งูสีเงินแล้วคุยกันว่า “บริวารขององค์เทพมาแล้ว สิ่งดีๆกำลังจะเกิดขึ้น” งูสีเงินไม่ค่อยเข้ามาใกล้ผู้คน และไม่มีใครฆ่างูชนิดนี้
ในเดือนตุลาคมของปีนั้นผมได้กลับมาเยี่ยมที่นี่อีกครั้งและทำสัญญากับคุณนิคมเจ้าของที่แห่งนี้ ในปี 2010 มีการจัดเทศกาลชัมบาลาครั้งแรก มันเป็นเทศกาลเล็ก ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 250 คน เรามีรายได้น้อยและงบประมาณก็ติดลบ แต่พวกเรามีความสุขและตัดสินใจที่จะจัดงานต่อไป
เราจัดเทศกาลนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่ออนาคตที่สดใส อย่างน้อย ถ้าคุณมาชัมบาลา คุณจะมีเวลาเหลือเฟือ ได้คิด พูด ดู เดิน ค้นหา และห่างไกลจากแสงสีในเมือง เราจะค่อยๆกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากงานฟูลมูนปาร์ตี้ค่อนข้างมาก
ผมคิดว่าตัวเองเป็นผู้ถ่ายทอดเทศกาลสไตล์ญี่ปุ่น (MATSURI)มายังประเทศไทย
ในแต่ละปีมีผู้คนมาจากทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น ในปีนี้ มีผู้ร่วมงาน 3,500 คนจาก 63 ประเทศมาร่วมสนุกกับเทศกาลนี้ ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาและไม่มีการทะเลาะกันเลย คนในท้องถิ่นชื่นชอบเทศกาลนี้เป็นอย่างมากและคนไทยก็เป็นส่วนสำคัญของผู้เข้าร่วมเทศกาลนี้
นี่เป็นเรื่องราวสั้นๆว่างานนี้เริ่มต้นอย่างไร
ภาพวาดที่สวยงามในปี 2023 เพื่อเป็นเกียรติแก่นามิซัง
โปสเตอร์เทศกาลปีนี้สร้างโดย Stephan Weber ในเมืองปาย ประเทศไทย